โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

 

พัฒนาเมืองและโครงข่ายให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

 


27 มิถุนายน 2560 รัฐบาลได้มีมติให้กำหนดรูปแบบการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทางและพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยวงเงินลงทุน 400,000,000 บาท

 


สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ “ศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง” ซึ่งเป็นการศึกษาพื้นที่ เมือง หรือชุมชน ตามแนวโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศที่มีแนวโน้มเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาเมืองให้มีการเติบโตอย่างประสิทธิภาพและสามารถจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างด้านคมนาคม ตามหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง Transit Oriented Development หรือ TOD

 


ในอนาคต การพัฒนาพื้นที่ให้เติบโตไปพร้อมกับระบบโครงข่ายด้านคมนาคมที่ครอบคลุม ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มศักยภาพแข่งขันทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างการลงทุนและการจ้างงานในพื้นที่ จนเกิดเป็นเมืองที่เติบโตอย่างมั่นคง ง่ายต่อการใช้ชีวิต กระตุ้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

 

โครงการนี้ทำอะไร?

 

จัดทำแผนการพัฒนาเมืองรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีรถไฟทางคู่ ศูนย์คมนาคมขนส่งและจุดเปลี่ยนถ่ายในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

กำหนดพื้นที่และเสนอแนะแนวทางการจัดทำผังเฉพาะ (Specific Plan) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามแนวคิด Transit-Oriented Development (TOD)

 

คัดเลือกพื้นที่ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองอย่างน้อย 3 แห่ง พร้อมออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองในรูปแบบ Urban Design อย่างละเอียดครอบคลุมทุกมิติ

จัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่สามารถเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีรถไฟทางคู่ และศูนย์คมนาคมขนส่ง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง

 

จัดทำแผนการลงทุนและการบริหารจัดการ เพื่อรองรับแผนการพัฒนาเมืองหรือเมืองใหม่

 

จัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment :SEA) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) สำหรับการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง

 

สนับสนุนการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามผลการศึกษา ให้สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

กว่าจะสำเร็จเป็นผลการศึกษาที่สมบูรณ์

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักของโครงการและสำเร็จออกมาเป็นแผนผังการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทั้งประเทศ จำเป็นจะต้องมีการวางแผนขั้นตอนการดำเนินงานโครงการอย่างละเอียดทั้งด้านแนวคิด เทคนิค ขั้นตอนและกระบวนการ เพื่อให้ผลการศึกษาสามารถนำมาปฏิบัติให้ได้ผลจริงอย่างเป็นรูปธรรม

การดำเนินงาน


จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สำรวจพื้นที่ตามสถานีขนส่งทางรางทุกระบบ รวมถึงจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีศักยภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล จากนั้นนำมาจัดหมวดหมู่เพื่อหาแนวทางการพัฒนา


จัดทำผังเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพ คัดกรองพื้นที่ทั้งหมดตามแผนแม่บท โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกที่หลากหลาย ทั้งขนาดเมือง ลักษณะการบริหารจัดการ ข้อมูลด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และลักษณะการบริหารจัดการในพื้นที่ ผลที่สรุปได้จะนำมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้จริง

การจัดทำผังเฉพาะในรายละเอียด นำข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพ มาคัดเลือกให้เหลือ 3 พื้นที่ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลครบในทุกมิติ ทั้งรายละเอียดผังเมือง การออกแบบชุมชนเมือง และการออกแบบระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder System) ที่ต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์และบริบทของเมือง หลังจากนั้นจึงประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดเมืองต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

การดำเนินงาน


ศึกษาเมืองตัวอย่างจากต่างประเทศ (Case Study) ศึกษาทั้งลักษณะโครงการและการพัฒนาทางกายภาพ รวมทั้งขั้นตอนการทำงานจริงและขั้นตอนทางกฎหมาย การบริหารจัดการ และองค์กรที่รับผิดชอบ


ถอดบทเรียนเพื่อสกัดองค์ความรู้ (Know How) นำผลจากการศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศมาถอดบทเรียนเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย เช่น กฎหมาย รูปแบบการลงทุน การบริหารจัดการ บทบาทขององค์กรและหน่วยงาน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะให้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

สรุปการถอดบทเรียน (Comprehensive Metrix) นำผลจากการถอดบทเรียนมาจัดทำบทสรุป เพื่อออกแบบรูปแบบการพัฒนาเมืองที่ควบคู่ไปกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทย และจะนำมาใช้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาต่อไปในอนาคต

จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองที่เกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทย (Thai TOD Master Plan) รวบรวมพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเมืองรอบสถานีตามเส้นทางของระบบราง สถานีปลายทางของการขนส่งระบบอื่น สถานีหรือศูนย์รวมระบบขนส่ง และพื้นที่พิเศษต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ต้องมีการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เพื่อให้ได้ภาพรวมของแผนแม่บทการพัฒนาเมืองตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

สู่การพัฒนาเมืองต้นแบบ (Thai TOD Prototype) นำพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพัฒนาเมืองทั้งหมดมาทำการคัดเลือก ด้วยการคัดกรอง (Screening) เฉพาะพื้นที่มีศักยภาพ โดยดูจากสถานที่ตั้งที่เหมาะสมหรืออยู่ในนโยบายการพัฒนาของประเทศ จากนั้นจึงนำมาคัดเลือก (Selecting) ทั้งในด้านความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ ความร่วมมือขององค์กร การลงทุน และทางกฎหมาย รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 3 พื้นที่ ซึ่งการศึกษาจะลงรายละเอียดจนถึงการออกแบบชุมชนเมืองและการจัดรายงานสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

โครงการนี้ดำเนินงานโดย...

 

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม

ร่วมด้วยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

 

 

บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทหลัก)

 

บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด

 

บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด

 

บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด

 

บริษัท นิปปอน โคอิ จำกัด

 

บริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

 

NIKKEN SEKKEI Ltd.

 

  • ติดต่อโครงการ

  • สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
  • เลขที่ 35 ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท
    เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
  • โทรศัพท์ 0-2215-1515 ต่อ 4002 และ 4019
  • E-mail : webmaster@otp.go.th